สัตว์มงคลล้านนาวิทยา 101

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 29 มิถุนายน 2568

    งาน Craft Bangkok 2025 ที่ผ่านมา ไปสะดุดตากับตุ๊กตาและงานไม้หน้าตาน่ารัก รูปแบบแปลกตา คล้ายตุ๊กตาดารุมะของญี่ปุ่นแต่ไม่เหมือนซะทีเดียว ที่บูธ Lanna Cryptozoology 101  เมื่อมีจังหวะจึงได้เข้าไปพูดคุยกับ คุณระรินทร์ โรจนวัฒนะวุฒิ หรือ พี่นุ๊ก เพื่อสอบถามความเป็นมาเป็นไป และแรงบันดาลใจในการทำตุ๊กตาเหล่านี้  แค่เห็นชื่อบูธก็รู้สึกสนุก ดูน่าค้นหาซะแล้ว  

    Crypto ภาษากรีก แปลว่า ซ่อนเร้น ลึกลับ

    Zoology คือ สัตววิทยา

    พี่นุ๊กเล่าให้ฟังว่า ตั้งชื่อ Lanna Cryptozoology 101 (วิชาสัตววิทยาลึกลับของล้านนา หรือ สัตว์มงคลล้านนาวิทยา)  ให้ล้อกับศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดอย่างจริงจังในมุมของชีววิทยา และบอกว่าจะมี วิชา 102 และ วิชา103 ตามออกมาอีกเป็นซีรีย์


    ที่มาของ Lanna Cryptozoology 101 …  

    พี่นุ๊กเป็นคนกรุงเทพฯ ย้ายไปอยู่เชียงใหม่กว่า 40 ปีแล้ว ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบศิลปะ และทำปริญญาโทเกี่ยวกับการวิจัยการออกแบบคาแรคเตอร์ด้วยอัตลักษณ์ล้านนามาก่อน ระหว่างเรียนได้มีโอกาสช่วยงานอาจารย์ในการทำงานวิจัยศึกษาภูมิปัญญาล้านนา ได้เห็นประติมากรรม ศึกษาเกี่ยวกับตำนานต่างๆ ของล้านนา เกิดความสนุก ความสนใจ ผูกพัน และหลงรักในสัตว์มงคลเหล่านี้ เพราะสัตว์มงคลของชาวล้านนานี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปบนศิลปกรรมในศาสนสถานต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นคติ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ความเคารพ ความศรัทธา ของคนท้องถิ่นล้านนาทั่วไปในสมัยก่อน 

    เราเห็นแววตาของพี่นุ๊กที่เล่าให้เราฟังด้วยความสนุกสนานถึงตำนานของสัตว์มงคล 3 ชนิด ที่เลือกขึ้นมาทำเป็นของที่ระลึก หน้าตาน่ารัก สามารถพกพาติดตัว หรือ วางโชว์ตกแต่งตามมุมต่างๆ ของห้องได้ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาผ้าขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ตุ๊กตาลอยตัวที่ทำจากเรซิน  ไม้แกะสลักพิมพ์ร้อนเป็นรูปสัตว์มงคล หรือ อื่นๆ  

    สัตว์มงคล 3 ชนิดที่พี่นุ๊กเลือกมาทำงานเบื้องต้น ได้แก่ ตัวมอม แมงสี่หูห้าตา และ พญาลวงหรือตัวลวง ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบเจอได้บ่อยในพุทธศิลป์ล้านนา   

    “ตัวมอม หรือ มอม” เป็นสัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น คล้ายสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้ง สุนัข แมว ตุ๊กแก กิ้งก่า เสือ และลิง ฯลฯ ลำตัวยาว มีใบหู สีตัวจะแตกต่างไปตามจินตนาการและประสบการณ์ของช่าง  มักจะปรากฏอยู่ในงานประติมากรรมประดับตามวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะงานประติมากรรมของชาวล้านนา จะมีตัวมอมประดับอยู่บริเวณราวบันได หน้าบัน ซุ้มวิหาร ซุ้มประตูทางเข้า บานประตูท้องไม้ และบริเวณภายในของวิหาร อุโบสถ เจดีย์ อาคารอื่นๆ ภายในวัด  ตัวมอมจะอยู่ในท่าเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น ท่ายืน ท่าหมอบกระโจน ท่าวิ่ง เป็นต้น ตัวมอมถูกพูดถึงในตำนานเสาอินทขีล ซึ่งเป็นตำนานการตั้งเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย และถือเป็นสัตว์ของเทพชั้นสูง มีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ถึงขนาดมีการสักยันต์เป็นรูปตัวมอมที่ร่างกาย เพื่อให้ปกป้องตนเองจากสิ่งชั่วร้าย

    “แมงสี่หูห้าตา”  เป็นชื่อของสัตว์ประหลาดในตำนานตามความเชื่อของทางภาคเหนือ เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เงินทอง และความอุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเหมือนหมีขนยาวสีดำ ตัวอ้วน เตี้ย มีหู 4 หู มีตาสีเขียว 5 ตา กินถ่านไฟร้อนเป็นอาหาร และถ่ายมูลออกมาเป็นทองคำ เป็นแค่สัตว์ในจินตนาการที่มีเรื่องเล่าในล้านนามาแต่โบราณ และมีการบันทึกลงในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษร คาดว่าอาจเป็นนิทานที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาจนได้รับความนิยม ต่อมามีการนำมาเขียนผูกโยงกับคำสอนทางศาสนา โดยว่าจำนวนสี่หูและห้าตานั้น แสดงถึงหลักธรรมพรหมวิหาร 4 และ ศีล 5 เพื่อดึงดูดความสนใจ จนกลายเป็นชาดกเรื่องหนึ่ง

    “พญาลวงหรือตัวลวง” เป็นสัตว์มงคลนำโชคของชาวไทลื้อ เป็นตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์และสวรรค์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปัญจรูป”  เนื่องจากมีลักษณะของสัตว์มงคล 5 ชนิด คือ หัวเป็นสิงห์ งวงและงาเป็นช้าง ขาและเขาเป็นกวาง ปีกเป็นหงส์และหางเป็นปลา คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า พญาลวงคือพญานาค แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พญาลวงของล้านนานั้น จะมีหู ปีก เขา และขา 4 ขา คล้ายมังกรและพญานาครวมกัน  

    “ลวง” มาจากคำว่า “เล้ง” ที่แปลว่า “มังกร” สันนิษฐานกันว่ารับรูปแบบมาจากศิลปกรรมของจีน หมายถึง พลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย ในคืนที่มองเห็นฟ้าแลบผ่านกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า ชาวล้านนามักจะเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ลวงเล่นฝ้า หรือ ลวงเหล้นฝ้า” เหล้น แปลว่า เล่น ส่วนฝ้า หมายถึง ก้อนเมฆ

    พญาลวง เป็นสัตว์มงคลในด้านของความเชื่อเรื่องความสมบูรณ์ของน้ำ คนล้านนาเชื่อว่า ขณะที่ตัวลวงบินอยู่บนท้องฟ้า จะเกิดปรากฏการณ์ “ลวงเหล้นฝ้า” หรือฟ้าแลบอันเป็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะมา ตัวลวงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการหล่อเลี้ยงชีวิต พืชพรรณธัญญาหาร ของชาวล้านนนา


    เส้นทางต่อไปของ Lanna Cryptozoology 101 …

    ปัจจุบันประติมากรรมเหล่านี้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว เนื่องจากการบูรณะวัดแต่ละครั้ง มักมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะของตัวประติมากรรม ประกอบกับการถูกทำลายโดยธรรมชาติและมนุษย์ ทำให้ไม่เหลือรูปแบบ ลักษณะดั้งเดิมของสัตว์มงคลเหล่านี้ ให้คนรุ่นหลังได้เห็น

    พี่นุ๊ก มีความตั้งใจ ความคิดที่จะสืบทอดความเชื่อโบราณนี้ไม่ให้สูญหายไป เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นและยังรู้จักอยู่ โดยการนำสัตว์มงคลเหล่านี้มาถอดอัตลักษณ์ แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นคาแรคเตอร์ที่ดูทันสมัยขึ้น จำลองออกมาเป็นตุ๊กตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผสมกับคาแรคเตอร์ของตุ๊กตาดารุมะจากญี่ปุ่นที่พี่นุ๊กชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เชื่อมโยงตำนานสู่ความสายมูเล็กน้อย นำภูมิปัญญามาสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ผ่านสัตว์มงคลเหล่านี้ เพื่อดึงดูดวัยรุ่นในปัจจุบันให้หันมาสนใจ เป็นตุ๊กตาที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความสุข ความมั่นคง ความปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง ความรัก ฯลฯ ให้กับผู้พบเห็นหรือพกพา มีทั้งตุ๊กตาผ้า พวงกุญแจ แผ่นไม้ ลวดลายสัตว์มงคลต่างๆ สีสันสวยงาม ตุ๊กตา 3D เลียนแบบอาร์ททอย (Art Toy) ที่กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่นปัจจุบัน สำหรับให้พกพา หรือนำไปให้เป็นของขวัญกับเพื่อนฝูงได้

    นี่ถือเป็นก้าวแรกที่เริ่มทำ และมีการวางแผนจะนำสิ่งเหล่านี้ ไปต่อยอดสอนให้เด็กพิเศษได้ทำ เพื่อฝึกสมาธิ การควบคุมตัวเองของเด็ก ประกอบกับอยากให้เด็กพิเศษมีรายได้ที่มาจากการพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย

    ถึงจะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นในแววตา ความรัก ความสนุกสนาน ในงานที่ได้ลงแรงลงมือทำ ทำในสิ่งที่ตนรัก ขณะเดียวกันก็ได้รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม ต่อยอดออกไปในรูปแบบใหม่ที่เข้ากับบริบทสังคมมากขึ้น สื่อสารเข้าถึงสังคมในวงกว้างมากขึ้น และยังได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนอีกด้วย

    แล้วคุณละ ได้เริ่มลงมือทำในสิ่งที่คุณรัก หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนแล้วบ้างหรือยัง


    เรื่อง: ณฐ๑

    ภาพ: สื่ออารยธาม

    ขอบคุณภาพสัตว์ในตำนาน จาก Sanook.com, Thai Today News และ FB เรื่องราวชาวล้านนา

    ความคิดเห็น