ลูกไม้ใต้ต้น วิถีคนชอบ สี..ธรรมชาติ

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 26 มกราคม 2568

        “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น จากครอบครัวศิลปินที่รักในการทดลองผสมสี เปลือกไม้ ใบไม้ และผลผลิตจากป่า จนเกิดเป็นชิ้นงานผ้ามัดย้อม เรียนรู้จากความถูกผิดของงาน สะท้อนสู่การรู้จักตัวเองว่า ความสุขในทุกวันนี้ของเธอคืออะไร”

        ข้อความแนะนำตัวบนแบนเนอร์สวยๆ ของ “ฟ้า-เพลงโปรด เขียวทอง” นักศึกษา SE อาศรมศิลป์ กับ “งานผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ” ณ หมู่บ้านอารยธาม ที่เปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 17 ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เมื่อปีที่แล้ว

        วันนั้น ฟ้าเล่าให้ฟังว่า เธอไม่ได้ชอบงานผ้า เธอแค่กำลังตามหาคนที่ทำสีธรรมชาติผสมแป้งผสมปูนผสมดินให้กลายเป็นสีน้ำจากธรรมชาติเป็นสีทาบนโปสเตอร์หรือระบายลงบนกระดาษเหมือนสีในแป้น (กล่องบรรจุสีเป็นช่องๆ) พอได้มาเจอการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ เธอจึงสนใจอยากลองอยากเล่น และเมื่อได้ลองทำก็ชอบ

        “ถามว่าลงลึกเรื่องผ้าไหม..ไม่ค่ะ หนูชอบเรื่องสี หนูชอบเรื่องการเล่นสี การจุ่มมอร์แดนท์ (Mordant : สารหรือวัตถุธาตุที่ใช้เพื่อให้สีติดแน่น) จุ่มน้ำด่างหรือจุ่มปูนใสมันก็จะได้สีที่ไม่เหมือนเดิม เพราะหนูชอบเรื่องสี อย่างประดู่ก้นหม้อก็จะมีเศษสี เอาไปตกตะกอนทำเป็นสีได้เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นการเรียนรู้ของเราเอง แต่ถ้าเราได้ไปเรียนลงลึกก็จะได้รายละเอียดมากขึ้น อย่างตอนนี้หนูก็จะได้เทคนิคของแต่ละที่ เช่น อาจารย์ผ่อง (อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง) เรื่องการทำสีดินด้วยการเอามาต้ม คือเรื่องสีสามารถทำได้หลากหลายวิธี ยิ่งพอเป็นธรรมชาติก็จะมีลูกเล่นเยอะให้เราได้ลอง บางคนเขาอาจจะไปเรียนเลยใช่ไหมคะ แต่เรายังมีปัญหาเรื่องเวลาและเรื่องทุน เราก็เลยเน้นลอง เน้นศึกษาด้วยตัวเองค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ”

        นอกจากการศึกษา ทำซ้ำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว เธอยังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แบ่งปันสิ่งที่ลองสิ่งที่รู้ให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับเธอ

        ในขบวนปั่นจักรยานสืบสานพระราชปณิธาน “Bike for Earth : เทิดไท้องค์ราชันย์” ที่ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี เราจึงได้เห็นงานผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกลูกจาก ซึ่งเป็นทรัพยากรเหลือทิ้งของพื้นที่นั้น ผลงานของน้องหมกและน้องเอิร์น น้องๆ จากกลุ่ม “เยาวชนเรือราง” ที่เรียนรู้การทำจากพี่ฟ้า เมื่อครั้งไปจัดค่าย “จริยศิลป์เคลื่อนชุมชน” ที่นั่น

        และเมื่อได้คุยกับฟ้าอีกครั้งในวันที่ขบวนจักรยานปั่นมาถึงบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดจัดแสดงนิทรรศการ“ห้องเรียนชุมชน” ของนักศึกษา SE อาศรมศิลป์ ก็ยิ่งเห็นเส้นทางเรียนรู้ของฟ้าที่ชัดขึ้น เมื่อเธอเล่าย้อนถึงตอนที่เธอไปสอนน้องๆ ที่สุราษฎร์ทำผ้ามัดย้อมจากสีเปลือกจาก ว่า 

    “หนูก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่เห็นว่าที่นั่นมีลูกจากเยอะ ก็เลยลองเอาเปลือกลูกจากมาทำดู ก็ทดลองดูก่อน เพราะหนูไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์ที่มีความเป๊ะ หนูเป็นสายอาร์ตที่ชอบแบบอาร์ตๆ ทดลองหน่อยๆ เน้นลองทำเพราะชอบ ก็หาความรู้จากเน็ตก่อน แล้วก็เอาประสบการณ์ของเราบวกกับข้อมูลที่หา มาลองทำ นั่นก็เป็นครั้งแรกของหนูเหมือนกันที่ได้เอาเปลือกจากมาทำ เพราะต้นจากไม่ได้มีอยู่ทุกที่ ไม่เหมือนเปลือกมะพร้าว และเปลือกจากก็แข็ง เส้นใยก็น้อย สีก็ไม่เยอะ ก็ต้องทดลองทำดู พอชวนน้องมาลองทำ น้องก็สนใจ และไม่ใช่แค่น้องที่ได้เรียนรู้นะ หนูก็ได้เรียนรู้ด้วย อย่างการทดลองสีทั้งหมดที่เราทำมา ถ้าเป็นเปลือกไม้จะให้สีได้นานกว่า มีเนื้อสีติดทนกว่าพวกสีที่เห็นได้ชัด เช่น สีฝาง สีขมิ้น จะอยู่ไม่นาน แต่พอเป็นจาก ก็รู้สึกว่าสวย แถมอายุยืนอยู่นานด้วย” 

        ในวัน “ครบรอบ 18 ปี สถาบันอาศรมศิลป์” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา “วันสายธารแห่งการเรียนรู้” ที่ลูกศิษย์ของสถาบันอาศรมศิลป์ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันนำผลงาน ผลผลิต เรื่องราวและเรื่องเล่าของพวกเขามานำเสนอ มาแลกเปลี่ยน และเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อครูบาอาจารย์

        เราได้เจอฟ้าอีกครั้งวันนั้น ที่บูธ workshop ของเธอซึ่งมีชื่อว่า “สวนศิลป์ดินอาร์ต” (กรณีศึกษา “ศิลปินจะอยู่รอดได้อย่างไร” ในสถานการณ์ไม่แน่นอน) เป็นพื้นที่ให้คนมานั่งขีดเขียน วาดภาพ ลงสี บนแผ่นกระดาษหรือบนผืนผ้าใบเล็กๆ มีสีอะคริลิคและสีจากดิน..สีธรรมชาติ ซึ่งเป็นความชอบของเธอ เตรียมไว้ให้

        เห็นแบนเนอร์และอุปกรณ์ข้าวของประดับตกแต่งบูธ ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่ฟ้าเคยเล่าให้ฟังเมื่อครั้งคุยกันหนแรกว่า เธอเติบโตมาในบ้านที่ทั้งพ่อและแม่เป็นศิลปิน พ่อเป็นนักดนตรีอาชีพที่อยู่มาวันหนึ่งก็ไปเรียนวาดภาพ ส่วนแม่ก็ไปเรียนตามพ่อจนกลายเป็นศิลปินวาดภาพทั้งคู่ และตอนเด็กๆ เธอก็ชอบเล่นผสมสี ผสมจนเป็นเซียนน้อยของบ้าน ผสมจนรู้หลักและรู้จักกับสีอะคริลิคดี กระทั่งกลายเป็นความเบื่อ เพราะรู้สึกไม่มีอะไรท้าทายในสีอะคริลิคให้เล่นแล้ว

        “สีอะคริลิค มันมีแค่ขาวเขียวม่วง เหมือนเรารู้แล้วว่าม่วงต้องผสมอะไรถึงได้ม่วง อยากได้ม่วงแบบนี้ต้องผสมอะไรคือพวกสีอะคริลิคหรือสีเคมี เราจะรู้ว่าถ้าเราอยากได้สีอย่างนี้เราจะบีบเท่านี้ สีนี้เท่านี้สีนี้เท่านี้ มันจะมีความเป๊ะของมันอยู่ ถ้ามันเพี้ยนมันก็แก้ได้ แต่สีธรรมชาติมันไม่เป็นแบบนั้น” ฟ้าบอกถึงเหตุผลที่ทำให้เธอเริ่มหันมาสนใจสีจากธรรมชาติ และความฝันของเธอในวันนั้น (วันที่เริ่มทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ-วันที่ได้คุยกันครั้งแรกที่หมู่บ้านอารยธามในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน)

    “อนาคตหนูก็จะทำเรื่องวาดรูปจากสีธรรมชาติ แต่ตอนนี้หนูทำเรื่องผ้ามัดย้อมก่อน ทำไปเรื่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ เพราะหนูก็ชอบศิลปะไปหมด เซรามิคก็อยากทำ อะไรก็อยากทำไปหมด พี่เคยเห็นคาเฟ่ที่เขาเปิดให้ทำงานศิลปะกุ๊กกิ๊กกุ๊กกิ๊กมั้ยคะ หนูชอบแบบนั้นแหละ มีความฝันอยากทำแบบนั้น เพราะบ้านฟ้าก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก เป็นบ้านติสท์ๆ กันอยู่แล้ว” 

        และในวันนี้ครอบครัวของฟ้าก็ได้เปลี่ยนพื้นที่บ้านสวนที่จังหวัดอุทัยธานีให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ศิลปะและดนตรี เป็นพื้นที่รวมกลุ่มศิลปินเพื่อนพ้อง และพื้นที่พออยู่พอกินของครอบครัว ที่ใช้ชื่อว่า “สวนศิลป์ดินอาร์ต” โดยเธอได้นำเรื่องราวและกิจกรรมของครอบครัวมาเล่าสู่กันฟังผ่านแบนเนอร์น่ารักๆ และ workshop เล็กๆ เพื่อจำลองให้เห็นวิถีที่ “สวนศิลป์ดินอาร์ต” @ อุทัยธานี

        ข้อความบางส่วนในแบนเนอร์น่ารักๆ เขียนเล่าไว้ว่า..

        “ครอบครัวฟ้า คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างพื้นที่สวนที่อุทัยธานีไว้หลายปี แต่ไม่มีโอกาสมาอยู่ โควิดทำให้เราตัดสินใจกลับสวน ลดค่าใช้จ่าย และได้มีเวลาพัฒนาพื้นที่มากขึ้น สร้างฐานพออยู่-บ้านดิน สร้างฐานพอกิน-ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น สร้างฐานพอใช้-แปรรูปของใช้ สร้างพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่รวมผลงานศิลปินเพื่อนๆ พื้นที่เล่นดนตรี เปิดสอนดนตรี”


    ...หรือเส้นทางการเรียนรู้สู่ความฝันของฟ้า อาจจะเป็นหนึ่งใน “คำตอบ” ให้กับทางรอดของศิลปิน

    เรื่อง     พี่หมีบูห์

    ภาพ     ทีมสื่อพึ่งตน เพื่อชาติ / พี่หมีบูห์

    ความคิดเห็น